top of page

สั่งแบน “ไขมันทรานส์” ผ่านมา 2 เดือน กระทบธุรกิจไทยยังไงบ้าง


เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา ใคร ๆ ก็คงได้ยินข่าวประกาศจากกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการสั่งห้ามห้ามผลิต นำเข้า จำหน่ายอาหารที่มีส่วนที่มีส่วนผสมของน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน หรือที่เรียกกันว่า “ไขมันทรานส์” (Trans Fat) เพราะเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ เบาหวาน หลอดเลือด และความดัน กลายเป็นกระแสที่ได้ความสนใจทั้งในโลกออนไลน์และสื่ออื่น ๆ กันอย่างครึกโครม


สหรัฐอเมริกาสั่งห้ามนานแล้ว

ที่จริงการสั่งแบนไขมันทรานส์ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร สหรัฐอเมริกาบังคับใช้มาก่อนหน้าเราถึง 3 ปีแล้ว และให้เวลาผู้ผลิต 3 ปีในการปรับตัว ส่วนประเทศไทยเรานั้น ให้เวลาผู้ผลิต 6 เดือนถึงเดือนมกราคม 2562 ก่อนที่อย.จะลงพื้นที่ตรวจคุมเข้มอย่างจริงจังอีกครั้ง

แล้วทำไมก่อนหน้านี้ถึงใช้ไขมันทรานส์

ไขมันทรานส์เกิดจากการเอาน้ำมันพืชที่เป็นของเหลวมาเพิ่มแก๊สไฮโดรเจนลงไป ทำให้น้ำมันพืชเหลว ๆ กลายเป็นของกี่งแข็งกึ่งเหลวในอุณหภูมิปกติ ไม่ละลาย ไม่เหม็นหืน เก็บได้นาน แถมยังราคาถูกลง เพราะเอาไขมันพืชมาดัดแปลงให้มีสภาพคล้ายไขมันสัตว์ จึงถูกใช้ในอุตสาหกรรมอาหารกันมายาวนานหลายสิบ



ไขมันทรานส์อยู่ตรงไหนบ้าง

  • วัตถุดิบ : เข้มข้นที่สุดก็คงเป็นวัตถุดิบที่เป็นตัวการของไขมันทรานส์ ได้แก่ ครีมเทียม มาการีน เนยขาว เนยเทียม ครีมเทียมข้นหวาน ครีมเทียมข้นจืด วิปครีม

  • ขนมขบเคี้ยว : ข้าวโพดคั่ว ขนมปังกรอบ ขนมปังขาไก่ ขนมปี๊บ ขนมทอดกรอบต่าง ๆ

  • เบเกอรี่ : คุ้กกี้ เค้ก พาย พัฟ เวเฟอร์ โดนัท ครัวซอง เอแคลร์ เพสทรี บราวนี่ ฯลฯ

  • ฟาสต์ฟู้ด : ไก่ทอด หมูทอด ปลาทอด เฟรนช์ฟรายส์ นักเก็ต ของทอดต่าง ๆ

ปรับตัวยังไงให้ไร้ไขมันทรานส์

  • เปลี่ยนจากเนยเทียมหรือมาการีน มาเป็นเนยสด

  • เปลี่ยนจากเนยขาว เป็นน้ำมันรำข้าว

  • เปลี่ยนจากครีมเทียม มาเป็นนมข้นหวานหรือนมสด

  • หลีกเลี่ยงวัตถุดิบที่มีส่วนประกอบของ “Partially Hydrogenated Oil” บนฉลาก

  • เลือกใช้น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วเหลือง หรือน้ำมันปาล์มในการประกอบอาหาร

  • เปลี่ยนวิธีการจัดเก็บอาหารใหม่ เพราะเมื่อไม่มีไขมันทรานส์แล้ว อาหารอาจจะเสียง่ายขึ้น ละลายง่ายขึ้น เกิดกลิ่นหืนง่ายขึ้น กรอบน้อยลง ตรงจุดนี้ก็ต้องค่อย ๆ ปรับกันไป



เจอแบบนี้ผู้บริโภคว่าไง

สำหรับผู้บริโภค ข่าวดีก็คือจะได้ผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น และข่าวร้ายคือราคาอาหารก็มีแนวโน้มจะสูงขึ้นตาม เพราะผู้ประกอบการจำเป็นต้องเปลี่ยนมาใช้วัตถุดิบที่ต้นทุนสูงกว่า และไหนจะต้นทุนในการคิดค้นปรับสูตรและกระบวนการกันใหม่อีก เอาเป็นว่าถ้าเป็นนักกินสายเฮลตี้ก็คงชอบใจ แต่ถ้าเป็นสายประหยัดก็คงต้องปรับตัวกันหน่อย


ผ่านมา 2 เดือน ธุรกิจไทยเกิดอะไรขึ้นบ้าง?

  • หุ้นตก : หลังจากออกประกาศ ราคาหุ้นของหลายบริษัทก็ปรับตัวลง เช่น AU (อาฟเตอร์ยู), MINT (เบร็ดทอร์ก แดรี่ควีน เบอร์เกอร์คิง), PB (ฟาร์มเฮ้าส์), WINNER (ผู้ผลิต นำเข้า จัดจำหน่ายวัตถุดิบเบเกอรี่), SNP (เอสแอนด์พี), LST (ผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์ม น้ำมันพืช ไขมันพืชผสม และเนยเทียม), VPO (ผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบ)

  • แบรนด์ต่าง ๆ พากันออกตัวว่า “ไร้ไขมันทรานส์” : ไม่ว่าจะเป็นแมคโดนัลด์ นมตรามะลิ เรือใบ ฟอลคอน เบิร์ดวิงซ์ คาร์เนชั่น มายบอย ทีพอท อลาวรี่ อิมพีเรียล ออร์คิด มรกต ทับทิบ หยก ฟาร์มเฮ้าส์ สาหร่ายเถ้าแก่น้อย เบสท์ฟู้ด กูลิโกะ โอรีโอ ริทซ์ ทอบเบอโรน เลย์ ตะวัน ซันไบทส์ ทวิสตี้ ชีโตส เคเอฟซี พิซซ่าฮัท คริสปี้ครีม เอสแอนด์พี อาฟเตอร์ยู อานตี้แอนส์ เบเกอรี่ของเทสโก้โลตัส เบเกอรี่ของบิ๊กซี


ผู้ประกอบการรายย่อยโดนผลกระทบแค่ไหน

สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย อาจจะดูเหมือนไม่ได้มีผลกระทบทางตรงมากนัก เพราะไม่ได้มีเจ้าหน้าที่ตามตรวจคุมเข้มเหมือนอย่างระดับอุตสาหกรรม ลุงขายโรตีก็ยังทอดขายได้ตามปกติ ป้ารถเข็นขายกาแฟก็เช่นกัน แต่สิ่งที่น่าห่วงคือผลทางอ้อม เพราะผู้บริโภคกำลังตื่นตัวจัดกับเรื่องนี้ แม้แต่ร้านข้างทางก็อาจอยู่ในข่ายเฝ้าระวังด้วย ถ้าลูกค้าเห็นว่าร้านไหนใช้มาการีน ครีมเทียม เนยขาว ฯลฯ อาจจะเมินหน้าหนี เจอแบบนี้ลุงขายโรตีกับป้าขายกาแฟก็เหมือนโดนบีบกลาย ๆ ให้แบนไขมันทรานส์ตามไปอีกคน


หรือนี่จะเป็นโอกาสของขนมไทย?

จะเห็นว่ากลุ่มที่โดนผลกระทบเข้าไปเต็ม ๆ แข้งคือพวกขนมฝรั่ง ตระกูลเบเกอรี่และขนมกรุบกรอบทั้งหลาย นี่อาจจะเป็นโอกาสอันดีของขนมไทย ขนมชั้น ขนมกล้าย ขนมถ้วย ลูกชุบ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ฯลฯ สารพัดทองทั้งหลายได้ลืมตาอ้าปากกันก็ได้ เพราะปราศจากวัตถุประเภทเนยนม ห่างไกลไขมันทรานส์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แถมยังราคาถูก พ่อแม่ซื้อให้ลูกทานได้อย่างสบายใจ


สำหรับผู้ประกอบการอาหารรายย่อยที่อยากปรับสูตรให้เข้ายุคสมัยสไตล์ No Trans Fat แต่ไม่อยากแบกรับต้นทุนที่พุ่งสูง ก็สามารถเลือกได้จากแบรนด์ที่ราคาน่าพอใจ นอกจากนี้การเลือกซัพพลายเออร์ก็มีส่วนช่วยได้ไม่น้อยเช่นกัน ถ้าลูกค้าแฮปปี้ มีพาร์ทเนอร์ดี ๆ ธุรกิจก็พร้อมฟันฝ่าทุกสถานการณ์


ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, กรุงเทพธุรกิจ, ฐานเศรษฐกิจ

ดู 319 ครั้ง

Commentaires


bottom of page