ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจหรือทำงานในองค์กร หลาย ๆ คนคงเคยผ่านประสบการณ์การเป็นหัวหน้ามือใหม่ป้ายแดงมาแล้ว จากผู้ตามกลายมาเป็นผู้นำ ก็อาจจะยังมีติดขัดไม่ลงตัวกันบ้าง ก็ค่อย ๆ ปรับกันไป แต่ถ้าปล่อยปัญหาให้ยืดเยื้อก็อาจจะกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ขึ้นได้เหมือนกัน เราจะพามาดูว่ามีข้อผิดพลาดอะไรบ้างที่มักเกิดกับหัวหน้ามือใหม่ รู้เอาไว้จะได้แก้ไขทัน
1. ทำทุกอย่างด้วยตัวเอง
คุณอาจจะเคยชินกับการเป็นลูกน้องมาก่อน ที่ต้องลงไปคลุกคลีทำงานทุกอย่างด้วยตัวเองทุกเม็ด แต่เมื่ออัพเลเวลขึ้นมาเป็นหัวหน้าแล้ว ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาลงมือทำเองไปเสียทุกอย่าง ควรวางใจให้ลูกน้องได้ทำแทนบ้าง แค่เฝ้ามองอยู่ห่าง ๆ ก็พอ ลูกทีมจะได้มีโอกาสฝึกฝนอย่างเต็มที่ และคุณเองก็จะได้เอาเวลาไปจัดการงานอย่างอื่นที่สำคัญกว่า
2. คาดหวังความเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว
หัวหน้าแต่ละคนมีสไตล์การทำงานไม่เหมือนกัน ถ้าคุณต้องเข้ามาบริหารต่อจากหัวหน้าคนเก่า หรือบริหารลูกทีมที่ไม่เคยทำงานร่วมกันมาก่อน อย่าเพิ่งคาดหวังว่าทุกคนจะทำงานได้ถูกใจตามสไตล์ของคุณแบบปุบปับ ควรให้เวลาทั้งสองฝ่ายในการปรับตัวเข้าหากันบ้าง ต้องการอะไรควรสื่อสารกันให้ชัดเจน ไม่อย่างนั้นก็มีแต่จะหงุดหงิดใจกันไปทั้งคู่
3. ใช้เวลากับลูกทีมน้อยเกินไป
การเป็นหัวหน้าที่ดี ไม่ใช่แค่ทิ้งการบ้านไว้ให้ทีมทำแล้วก็ชิ่งหายไปเท่านั้น แต่คุณต้องเป็นส่วนหนึ่งกับทีมนั้นด้วย ควรใช้เวลากับลูกทีมให้มาก ๆ ศึกษานิสัยใจคอซึ่งกันและกัน สร้างความไว้วางใจ แชร์ไอเดียกันอย่างเปิดเผย และคอยอยู่ข้าง ๆ ช่วยพวกเขาแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
4. วางตัวเป็นเพื่อนมากเกินไป
ต่อจากข้อที่แล้ว การสนิทสนมกับลูกทีมเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องไม่ลืมที่จะรักษาสถานะความเป็น “หัวหน้า” เอาไว้ด้วย เพราะในสถานการณ์บางอย่าง คุณอาจจำเป็นต้องสวมบทบอสที่จริงจัง เด็ดขาด และใช้อำนาจอย่างมีประสิทธิภาพ ฉะนั้นคุณควรจะวางตัวให้เหมาะสม อย่าให้ลูกทีมหรือคนนอกสับสน
5. ไม่กล้าวิจารณ์ตรง ๆ
ถ้าคุณเห็นว่าคนในทีมทำงานได้ไม่ดี หรือมีตรงไหนที่ควรพัฒนาให้ดีขึ้นได้ ก็ควรบอกกันตรง ๆ อย่ามัวเกรงใจว่าจะกลัวลูกน้องจะงอน จะเกลียดขี้หน้า การวิจารณ์ตรง ๆ ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นการดุด่าเสมอไป แต่ควรเป็นการติเพื่อก่อ ปราศจากอคติ พูดคุยกันด้วยเหตุผลให้มาก ๆ และเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้อธิบายเหตุผลของตัวเองเพื่อหาทางออกร่วมกัน
6. มองข้ามข้อบกพร่อง
หัวหน้าบางคนอาจจะมองข้ามข้อบกพร่องบางอย่างในตัวลูกน้องไป เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ยังไม่ส่งผลร้ายแรงอะไรกับงาน เช่น แอบหลับในที่ทำงาน ติดโทรศัพท์มือถือ ชอบโกหก เป็นต้น ก็ถือว่าเป็นการให้อิสระกับลูกน้องบ้างตามสมควร แต่ทางที่ดีคุณไม่ควรแกล้งทำปิดหูปิดตาไปเสียหมด เพราะข้อเสียเล็ก ๆ บางอย่างก็อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ในอนาคต เปลี่ยนเป็นค่อย ๆ บอกค่อย ๆ เตือนกันไปดีกว่า
7. ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง
ถึงเนื้อแท้คุณจะเป็นชอบถ่อมเนื้อถ่อมตัว ขี้อาย ขี้กังวล ก็ไม่ควรแสดงออกนิสัยเหล่านี้ให้ลูกน้องเห็นมากเกินไป เพราะเขาอาจจะมองว่าคุณไม่แกร่งพอจะเป็นหัวหน้าได้ ถ้าลูกน้องเห็นว่าบอสตัวเองกลัวจนออกนอกหน้า พวกเขาจะเอากำลังใจที่ไหนมาสู้ต่อกันล่ะ ฉะนั้นต่อให้สั่นคลอนแค่ไหนก็ควรกดไว้ข้างใน แสดงออกไปให้ลูกทีมรู้ว่าคุณนี่แหละคือผู้นำที่จะพาพวกเขาไปสู่เป้าหมายได้จริง
8. ไม่กล้าตัดสินใจ
เมื่อเวลาเกิดเรื่องใหญ่ คนที่ควรจะตัดสินใจก็คือหัวหน้าอย่างคุณนี่แหละ อย่ามัวลังเลหรือบ่ายเบี่ยงไปให้คนอื่น อย่ามัวกลัวว่าใคร ๆ จะโทษคุณถ้าผลออกมาไม่ดีอย่างที่คิด เพราะไม่ว่ายังไงคนเป็นหัวหน้าก็ปัดความรับผิดชอบไม่ได้หรอก ศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน ใช้สติและเหตุผลให้มาก แล้วตัดสินใจไปเลย เป็นไงเป็นกัน
9. เข้าไปบงการเรื่องจุกจิก
อ่านข้อข้างบนแล้ว ไม่ได้แปลว่าหัวหน้าจะต้องยื่นจมูกเข้าไปตัดสินใจในทุก ๆ เรื่องนะ ถ้าเป็นเรื่องจุกจิกทั่วไป งานประจำวัน หรือแค่ปัญหาเล็ก ๆ ปล่อยให้ลูกทีมได้ตัดสินใจด้วยตัวเองจะดีกว่า จะได้จัดการงานได้รวดเร็ว แล้วยังทำให้ลูกน้องรู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญมากขึ้นด้วย
10. จัดการข้อมูลไม่เป็น
ข้อมูลบางอย่างก็ควรกระจายให้ทุกคนในทีมได้รู้ทั่วกัน แต่บางเรื่องก็ไม่สมควร เช่น การตำหนิลูกน้อง การลดขั้นหรือเลื่อนขั้น การจ่ายค่าตอบแทน การเลิกจ้าง ฯลฯ เรื่องพวกนี้ควรบอกแค่คนที่เกี่ยวข้องจริง ๆ เท่านั้น หรือควรจัดลำดับให้ดี ว่าใครควรรู้ก่อน ใครรู้ทีหลัง รวมถึงใช้วิธีในการแจ้งข่าวให้เหมาะสมด้วย
แค่ลบข้อผิดพลาดเหล่านี้ได้ กำหนดขอบเขตอำนาจของตัวเองให้เหมาะกับงาน คุณก็พร้อมแล้วที่จะเป็นหัวหน้าทีมที่ดีของลูกน้อง และเป็นนายจ้างที่ดีของลูกจ้าง
ถ้าชอบบทความนี้ สามารถติดตามเคล็ดลับ ความรู้ และบทวิเคราะห์ดี ๆ สำหรับเจ้าของธุรกิจและผู้บริหารได้ที่แอปพลิเคชั่น MatchLink พร้อม Features ดี ๆ ที่คุณไม่ควรพลาด
👨 เข้าถึงลูกค้าและพาร์ทเนอร์ใหม่ๆ ได้มหาศาล
📊 ดูงบการเงินของทุกธุรกิจทั่วไทย
📇 สร้าง Digital Name Card
🤝 สร้างคอนเนคชันทางธุรกิจได้ง่ายๆ
📌 อัพเดทเคล็ดลับสำหรับเจ้าของธุรกิจ ด้วยแอปพลิเคชัน MatchLink แอปดีๆ ที่ผู้ประกอบการ 4.0 ห้ามพลาด
ดาวน์โหลดฟรีได้แล้ววันนี้
iOS >>> http://bit.ly/IosDownloadMatchLink
Android >>> http://bit.ly/AndroidDownloadMatchLink
Comments